เรื่องไม่คาดฝัน หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็น ไฟไหม้ ภัยธรรมชาติ ที่จนทำให้บ้านหรือที่อยู่อาศัยนั้นได้รับความเสียหาย ทำให้เจ้าของบ้านอาจจะต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากเพื่อซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ ดังนั้นการทำประกันอัคคีภัย จะช่วยบริหารความเสี่ยงและบรรเทาภาระทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุดังกล่าวได้เช่นกัน ซึ่งเทคนิคที่สามารถใช้เป็นแนวทางให้กับเจ้าของที่อยู่อาศัยในการเลือกทำประกันอัคคีภัยนั้น ได้แก่ การเลือกความคุ้มครองที่ต้องการ ว่าให้ครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน และรวมไปถึงการคำนวณเพื่อประมาณเงินทุนประกันอัคคีภัย เป็นต้น
ไม่ว่าจะเกิดเหตุจากไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือภัยอื่น ๆ ก็อาจจะสร้างความกังวลใจให้กับเจ้าของที่อยู่อาศัยหลาย ๆ ท่าน เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ทำให้ผู้เสียหายต้องสูญเสียเงินหลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาทที่จะต้องนำเงินมาซ่อมแซมให้กลับมาเหมือนเดิมหรือสร้างที่อยู่อาศัยใหม่
ดังนั้น เพื่อความอบอุ่นใจและบรรเทาความสูญเสียจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ การทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ การโอนความเสี่ยงจากค่าความเสียหายของเจ้าของที่อยู่อาศัยไปยังบริษัทประกันภัย แทนการรับความเสี่ยงด้านความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ก่อนตัดสินใจเลือกประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย สิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงประเด็น ดังนี้
- ความคุ้มครองที่เจ้าของที่อยู่อาศัยต้องการ โดยทั่วไป การทำประกันอัคคีภัยมักจะรวม 6 ภัยหลัก ๆ ได้แก่
- ไฟไหม้ รวมไปถึงไฟป่า พุ่มไม้ การเผาป่าเพื่อปราบพื้นที่
- ฟ้าผ่า
- การระเบิดทุกชนิด
- ภัยจากยานพาหนะ การขนส่งยานพาหนะ หรือสัตว์พาหนะ
- ภัยจากอากาศยานหรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน
- ภัยอันเนื่องจากน้ำ
นอกจากนี้ยังมีภัยอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากสถานที่ตั้งของที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม แม้ว่าโอกาสการเกิดภัยอาจไม่บ่อยหรือน้อยมาก แต่หากเกิดขึ้นค่าความเสียหายก็สูง เจ้าของที่อยู่อาศัยก็ควรเพิ่มความคุ้มครองในกรณีต่าง ๆ ด้วย เช่น ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว ภัยโจรกรรม เป็นต้น
- ทรัพย์สินที่สามารถเอาประกันอัคคีภัยได้ ได้แก่ บ้าน ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ตึกแถวสำหรับที่อยู่อาศัย โรงรถ และอาคารย่อย เช่น เรือนคนรับใช้ เรือนครัว รวมทั้งกำแพง รั้ว ประตู ส่วนที่ปรับปรุงหรือต่อเติม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่น ๆ เพื่อการอยู่อาศัย ส่วนทรัพย์สินที่ไม่ได้รวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
ยกเว้นว่าจะระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ รากฐานของสิ่งปลูกสร้าง ทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ อัญมณี เอกสารสำคัญต่าง ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานพาหนะ ต้นไม้ การจัดสวน สนามหญ้า เป็นต้น
- การคำนวณเงินทุนประกันอัคคีภัยที่เหมาะสม เจ้าของที่อยู่อาศัยจะต้องแยกราคาที่ดิน ราคาสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินภายในที่อยู่อาศัย ถ้าเจ้าของที่อยู่อาศัยต้องการเพิ่มความคุ้มครองพิเศษในรายการอื่น ๆ ที่มีราคาสูงนอกเหนือจากทรัพย์สินภายในอาคารข้างต้น ก็ควรเก็บใบเสร็จหรือใบราคานั้น ๆ เพื่อความสะดวกในการกำหนดวงเงินประกันและเคลม เช่น ตู้เย็น ทีวี อุปกรณ์กอล์ฟ จักรยานที่มีราคาสูง เป็นต้น
- การเคลมประกันอัคคีภัย บริษัทอาจจ่ายค่าสินไหมน้อยกว่า 100% ของมูลค่าความเสียหาย เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เจ้าของที่อยู่อาศัยควรทำประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยที่ทุนประกันไม่ต่ำกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สิน นอกจากการทำทุนประกันภัยที่ควรทำมากกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สินแล้ว เจ้าของที่อยู่อาศัยต้องทำความเข้าใจเรื่องค่าความรับผิดส่วนแรกของการเคลมประกันอัคคีภัยในแต่ละกรณีด้วย
- การเลือกชำระเบี้ยตามจำนวนปีที่เพิ่มขึ้น เบี้ยประกันเฉลี่ยต่อปีลดลง เจ้าของที่อยู่อาศัยประหยัดเบี้ยประกันได้มากขึ้น และทั้งนี้เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี มูลค่าทรัพย์สินอาจเปลี่ยนไปมีค่ามากขึ้น เจ้าของที่อยู่อาศัยจึงควรสำรวจทุนประกันภัยให้เหมาะสมกับมูลค่าทรัพย์สินด้วย ตัวอย่างเช่น กล่าวคือ การเลือกทำประกันภัย 2 ปี บริษัทจะคิดเบี้ยประกันภัย เท่ากับ 175% ของเบี้ยประกันภัย 1 ปี ถ้าเบี้ยประกันภัย 1 ปี 1,000 บาท เบี้ยประกันภัย 2 ปีจะอยู่ที่ 1,750 บาท เบี้ยเฉลี่ยต่อปี 875 บาท ทำให้ประหยัดเงินได้ 250 บาท
ประโยชน์เพิ่มเติมจากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองพื้นฐานเพิ่มขึ้น จากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งให้ความคุ้มครองพื้นฐานเพียง 3 ภัย ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือ ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น แต่กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองพื้นฐานเพิ่มเป็น 6 ภัย และให้ประโยชน์กรณีกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยคลาดเคลื่อน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการทำประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยมีความสำคัญไม่น้อย เพราะหากเกิดอัคคีภัยขึ้นจะทำให้มีค่าความเสียหายและค่าใช้จ่ายสูง จากเทคนิคข้างต้นจะช่วยเป็นแนวทางให้เจ้าของที่อยู่อาศัยเลือกทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยในเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยเลือกทำประกันอัคคีภัยหลักที่ตอบโจทย์เรื่องความเสียหายจากไฟไหม้ และเมื่อมีกำลังทรัพย์มากขึ้น มีห่วงภัยด้านต่าง ๆ มากขึ้น ก็สามารถขยายความคุ้มครองในปีถัด ๆ ไปได้ เพื่อจะได้ชำระเบี้ยประกันที่ไม่สูงจนเกินไป แต่ยังคงบรรเทาความเสียหายได้มาก
ทั้งนี้ ไม่ว่าเจ้าของที่อยู่อาศัยจะมีที่อยู่อาศัยแห่งเดียวหรือหลายแห่ง ก็จะสามารถประมาณทุนประกันอัคคีภัยของที่อยู่อาศัยแต่ละแห่งได้อย่างเหมาะสม โดยเทียบราคาเบี้ยประกัน รายละเอียดความคุ้มครอง และเงื่อนไขของบริษัทประกันภัยแต่ละบริษัท เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากความคุ้มครองอย่างสูงสุด