อัตราส่วนทางการเงิน ที่นักลงทุนมือใหม่จำเป็นต้องรู้

อัตราส่วนทางการเงิน

จริง ๆ แล้ว “อัตราส่วนทางการเงิน” (Financial Ratio) ที่ใช้ในการวิเคราะห์หุ้นมีอยู่เยอะมาก ๆ ซึ่งบางตัวก็ใช้บ่อย แต่บางตัวเราก็แทบจะไม่ได้ใช้เลย ซึ่งในบทความนี้จะอธิบายศัพท์ทางการเงินที่เราใช้ในการวิเคราะห์หุ้นกันบ่อย ๆ และนักลงทุนมือใหม่ควรรู้มีอะไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วเราไปเริ่มดูกันเลย

อัตราส่วนทางการเงิน คืออะไร และมีอะไรบ้างมาดูกัน

“อัตราส่วนทางการเงิน” หรือ Financial Ratio เป็นการนำตัวเลขจากส่วนประกอบในงบการเงินต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกัน เพื่อให้สามารถวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของบริษัทได้เห็นภาพและเข้าใจง่ายมากขึ้น แล้ว อัตราส่วนทางการเงิน ที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้มีอะไรบ้าง

อัตราส่วนทางการเงินที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้จัก เพื่อเอาไว้ใช้ในการวิเคราะห์หุ้นมีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ

  • อัตราส่วนทางการเงินเพื่อวัดความมั่นคงทางการเงิน
  • อัตราส่วนทางการเงินเพื่อวัดสภาพคล่อง
  • อัตราส่วนทางการเงินเพื่อวัดความสามารถในการทำกำไร

อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อวัดความมั่นคงทางการเงิน D/E Ratio 

อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อวัดความมั่นคงทางการเงิน D/E Ratio 

เป็นอัตราส่วน D/E เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่าง หนี้สินรวม กับ ส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่ง D/E Ratio มีหน่วยเป็นเท่า การดูอัตราส่วน D/E จะบอกเราได้ว่าบริษัทมีหนี้สินหรือส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่ากัน หรือจะบอกได้ว่า บริษัทมีการสร้างหนี้สินที่เกินตัวหรือเปล่า

  • ถ้าอัตราส่วน D/E น้อยกว่า 1 เท่า ก็แปลว่า บริษัทมีหนี้สินน้อยกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น
  • ถ้าอัตราส่วน D/E เท่ากับ 1 เท่า ก็แปลว่า บริษัทมีหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นเท่า ๆ กัน 
  • ถ้าอัตราส่วน D/E มากกว่า 1 เท่า ก็จะแปลว่า บริษัทมีหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น

โดยบริษัทที่ดีควรมีค่าอัตราส่วน D/E น้อยกว่า 1 เท่า เพราะ ถ้าอัตราส่วน D/E มากกว่า 1 เท่า แสดงว่า บริษัทมีสัดส่วนของหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงของบริษัท เพราะ การมีหนี้สินที่มากเกินไป ก็อาจจะส่งผลต่อฐานะและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทได้ แถมถ้าบริษัทมีหนี้มากสิ่งที่จะตามมาก็คือ “ดอกเบี้ย” ที่จะต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้ที่บริษัทกู้ยืมหนี้สินมา และ โดยส่วนมากแล้วเรานิยมที่จะเปรียบเทียบอัตราส่วน D/E กับบริษัทนั้น ๆ ในแต่ละปีมากกว่า จะไม่ค่อยนิยมเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน

อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อวัดสภาพคล่อง

อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อวัดสภาพคล่อง

สูตรของ Current Ratio เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่าง สินทรัพย์หมุนเวียน  กับ หนี้สินหมุนเวียน โดยมีหน่วยเป็นเท่า ซึ่งอัตราของ Current Ratio เป็นตัวบอกว่าบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียน เช่น เงินสดลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือ จะเพียงพอที่จะจ่ายหนี้สินหมุนเวียนหรือหนี้สินที่บริษัทจะต้องจ่ายภายในหนึ่งปี 

Current Ratio ที่ดีควรจะต้องมีค่ามากกว่า 1 เท่า เพราะนั่นหมายความว่าบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายหนี้สินหมุนเวียนนั่นเอง

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) อัตราส่วนวัดความสามารถในการทำกำไร

อย่างถัดมาเป็น ROA เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่าง กำไรสุทธิ กับ สินทรัพย์รวม 

ROA เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงความสามารถของกิจการว่าสามารถนำสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่มาสร้างรายได้ได้มากน้อยแค่ไหน โดยสูตรการคำนวณ ROA มาจากการที่เอากำไรสุทธิมาเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ และ ROA มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์

  • ถ้า ROA สูง แสดงว่ากิจการบริหารสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • ถ้า ROA ต่ำ แสดงว่ากิจการบริหารสินทรัพย์ได้ไม่มีประสิทธิภาพ

ซึ่งการจะดูว่าสูงหรือต่ำเราควรนำ ROA ของบริษัทนั้นมาเปรียบเทียบกับบริษัทต่าง ๆ ใน อุตสาหกรรมเดียวกันหรือบริษัทที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ กัน เพราะแต่ละอุตสาหกรรมจะมีการลงทุนและวิธีการสร้างรายได้ที่แตกต่างกัน 

นอกจากนี้ เรายังสามารถเปรียบเทียบ ROA กับบริษัทตัวเองในแต่ละปีได้อีกด้วย เพื่อจะดูว่าบริษัทนั้นมีพัฒนาการในการทำกำไรจากสินทรัพย์หรือเปล่า โดยถ้า ROA ของบริษัทเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี อย่างสม่ำเสมอถือว่าดี เพราะแสดงว่าบริษัทสามารถสร้างกำไรจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ได้ดีขึ้นนั่นเอง 

อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)

เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงความสามารถของกิจการว่าสามารถนำเงินทุนของผู้ถือหุ้นมาสร้างผลตอบแทนได้มากน้อยแค่ไหน คุ้มกับเงินทุนที่ผู้ถือหุ้นลงทุนไปหรือเปล่า โดยสูตรการคำนวณ ROE คือ การนำกำไรสุทธิ มาเปรียบเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น และคูณด้วย 100 เพื่อให้หน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์

  • ถ้า ROE สูง แสดงว่ากิจการสามารถบริหารส่วนของผู้ถือหุ้นได้ดี
  • ถ้า ROE ต่ำ แสดงว่ากิจการบริหารส่วนของผู้ถือหุ้นได้ไม่ดี

การจะดูว่า ROE สูงหรือต่ำ เราต้องเปรียบเทียบกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน  

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)

Net Profit Margin เป็นอัตราส่วนทางเงินที่เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่าง กำไรสุทธิกับยอดขายรวม แล้วคูณด้วย 100 เพื่อทำให้หน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่า กำไรสุทธิของบริษัทมาจากการนำ ยอดขายรวม ลบด้วย ค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเป็นต้น เป็นต้น

ดังนั้น อัตรากำไรสุทธิ ก็เป็นทั้งการวัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทและวัดความสามารถในการควบคุมต้นทุนของบริษัท ดังนั้น ถ้าอัตรากำไรสุทธิ (NPM) ของบริษัทยิ่งสูงก็ยิ่งดี เพราะ แสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการสร้างกำไรและการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเปรียบเทียบ Net Profit Margin ทั้งกับบริษัทตัวเองในแต่ละปี และกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน 

บทความล่าสุด

หมวดหมู่

TAG