การวางแผนภาษีที่ดีตั้งแต่ต้นปี สามารถทำได้ง่าย ๆ แล้วเพราะเหตุใดถึงต้องวางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากจะได้เป็นการวางแผนทางการเงิน บริหารการเงินของเราตั้งแต่ต้นปีเลย ในแต่ละปี เราจะต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง เช่น ค่าประกันต่าง ๆ ทั้งประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันรถ ภาษี และวางแผนเรื่องการลดหย่อนภาษี เป็นต้น
การวางแผนภาษี คืออะไร
การวางแผนภาษี เป็นการเตรียมตัวเพื่อให้ผู้ที่มีรายได้นั้นได้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ และจะต้องรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีด้วยเช่นกัน ทำให้เรามีภาระทางภาษีที่น้อยลง หากแต่ละคนวางแผนการจ่ายภาษีได้เป็นอย่างดี เงินที่สามารถลดหย่อนภาษีมาได้นั้นก็สามารถนำไปต่อยอดได้ เช่น ลงทุนเพิ่ม หรือเก็บออมเพื่ออนาคต เป็นต้น
ดังนั้น การวางแผนภาษีที่ดี ก็จะต้องเข้าใจรายละเอียดเรื่องภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาก่อน พร้อมกับต้องรู้จักรักษาสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีด้วยเช่นกัน
4 ขั้นตอนวางแผนภาษี
1. เข้าใจประเภทและค่าใช้จ่ายของเงินได้

ภาษีเงินได้ประเภทบุคคลธรรมดา เป็นภาษีทางตรงที่บุคคลธรรมดานั้นจะต้องเสียให้ถูกต้อง จะมีวิธีคิดจาก “เงินได้สุทธิ” * “อัตราภาษี”
ซึ่งรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมีอยู่ 8 ประเภท ทางกรมสรรพากรจะแบ่งตามประเภทอาชีพและต้นทุนในการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน เพื่อความเป็นธรรมในการคำนวณและจ่ายภาษีมากที่สุด แต่ก็มีหลายกรณีที่เงินได้ของบุคคลอาจถูกจัดว่าเป็นเงินได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะสัญญาการจ้างงานหรือข้อตกลงทางธุรกิจ เราจึงควรทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการจำแนกประเภทของเงินได้ เพื่อให้เกิดการหักค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
ประเภทเงินได้ | หักค่าใช้จ่าย |
1.รายได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เป็นต้น | 50% ไม่เกิน 100,000 บาท(หากมีเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินทั้ง 2 ประเภทมารวมกัน แต่จะหักได้ไม่เกิน 100,000 บาท) |
2.รายได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือการรับทำงานให้ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า เบี้ยประชุม เป็นต้น | |
3.รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น | 50% ไม่เกิน 100,000 บาท หรือตามจริง |
4.รายได้ที่เป็นผลตอบแทน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล เครดิตภาษีเงินปันผล ส่วนแบ่งกำไรขายหน่วยลงทุน กำไรจากการขายหรือส่วนแบ่งกำไรจากการถือคริปโต เป็นต้น | หักค่าใช้จ่ายไม่ได้ |
5.รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อ หรือการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน เช่น บ้าน สิ่งปลูกสร้าง ที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ดินไม่ใช้เพื่อการเกษตร ยานพาหนะ ทรัพย์สินอื่น เป็นต้น | ตามจริงหรืออัตราเหมา ตั้งแต่ 10% – 30% |
6.รายได้จากวิชาชีพ เช่น ประกอบโรคศิลปะ กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม | ตามจริงหรืออัตราเหมา 60%30% |
7.รายได้จากการรับเหมาพร้อมอุปกรณ์และสัมภาระ เช่น รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น | ตามจริงหรืออัตราเหมา 60% |
8.รายได้จากการประกอบธุรกิจ เช่น การพาณิชย์ การขนส่ง อุตสาหกรรม ขายของชำ ประมง และอื่น ๆ เป็นต้น | ตามจริงหรืออัตราเหมา 60%(ยกเว้นกรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางอื่นที่ไม่ได้มุ่งหากำไร) |
2. รักษาสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี
การวางแผนเรื่องลดหย่อนภาษีนั้นจะช่วยให้รายได้สุทธิของเราน้อยลง และทำให้เราเสียภาษีน้อยลงด้วยเช่นกัน ซึ่งเราจะแบ่งง่าย ๆ เป็น 3 ส่วนดังนี้
- สิทธิลดหย่อนขั้นพื้นฐานของชีวิต เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าดูแลพ่อแม่ ค่าดูแลบุตร เป็นต้น
- สิทธิลดหย่อนเพื่อการออมและลงทุน เพื่อช่วยประหยัดภาษีและวางแผนเกษียณไปด้วย ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ เป็นต้น
- สิทธิลดหย่อนเพื่อการบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลหรือสนับสนุนการศึกษา
3. เข้าใจวิธีคำนวณภาษี

ก่อนอื่นเลยเราจะต้องเข้าใจก่อนว่ารายได้เท่าไรถึงจะเสียภาษี ก็จะทำให้เราสามารถคำนวณได้คร่าว ๆ ว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไรในปีนั้น ๆ
เงินได้สุทธิ(บาท) | เงินได้สุทธิสูงสุด | อัตราภาษีร้อยละ | ภาษีในแต่ละขั้นเงินได้ | ภาษีสะสมสูงสุด |
0 – 150,000 | 150,000 | 5 | ยกเว้น | ยกเว้น |
150,001 – 300,000 | 150,000 | 5 | 7,500 | 7,500 |
300,001 – 500,000 | 200,000 | 10 | 20,000 | 27,500 |
500,001 – 750,000 | 250,000 | 15 | 37,500 | 65,000 |
750,001 – 1,000,000 | 250,000 | 20 | 50,000 | 115,000 |
1,000,001 – 2,000,000 | 1,000,000 | 25 | 250,000 | 365,000 |
2,000,001 – 4,000,000 | 2,000,000 | 30 | 600,000 | 965,000 |
4,000,001 ขึ้นไป | 35 |
4. รู้ช่องทางยื่นภาษี
เมื่อได้คำนวณภาษีของตนเองแล้ว รู้แล้วว่าต้องลดหย่อนอะไรบ้าง อีกอย่างที่จะต้องรู้เลยคือจะต้องเข้าไปยื่นแบบเสียภาษีให้เรียบร้อย ซึ่งจะต้องอ่านรายละเอียดในเอกสารที่เราได้แนบส่งอย่างละเอียดก่อนเสมอ เพราะการยื่นภาษีหากยื่นผิด ยื่นเอกสารไม่ครบ ข้อมูลผิดก็จะทำให้เกิดความล่าช้าไปได้ ได้เงินคืนช้าอีกด้วย เพื่อให้ทุกอย่างเสร็จด้วยความรวมเร็วมากที่สุด จะต้องยื่นให้ตรงเวลา หากจ่ายช้ากว่าเวลาที่กำหนด ก็จะต้องค่าปรับภาษี 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม
ดังนั้นการวางแผนภาษีที่ดีตั้งแต่ต้นปี มีแต่ข้อดีกับตัวเราอย่างมาก ทั้งลดหย่อนภาษีได้ ทั้งทำให้เราบริหารการเงินได้ดีขึ้นอีกด้วย ทำให้ช่วงปลายปี เราไม่ต้องมานั่งปวดหัวว่าเงินไม่พอใช้จ่ายค่าประกันต่าง ๆ หรือเงินไม่พอไปเที่ยวแล้ว อาจจะทำให้เราต้องมานั่งเสียใจว่าปีที่ผ่านมาเราบริหารเงินของตัวเองได้ไม่ดีเลย ซึ่งก็อาจจะกระทบไปจนถึงช่วงต้นปีถัดไปเลยก็เป็นได้นะ