ว่าด้วยเรื่องของ “จิตวิทยาการลงทุน” คือสภาพจิตใจและสภาวะอารมณ์ในการเทรดหุ้นของเรา ซึ่งจิตวิทยาการลงทุนถือว่ามีความสำคัญมากในการลงทุน และจิตวิทยาการลงทุนที่นักลงทุนในตลาดหุ้นมักทำพลาดมีอยู่ 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ราคาสูงเลยไม่ซื้อหุ้น อย่างต่อมาเมื่อเราไม่ยอมทำตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้การลงทุนที่เชื่อคนอื่นมากเกินไปก็จะทำให้พังได้ อีกทั้งยังฝังใจกับหุ้นตัวเดิม ๆ ที่อาจจะเคยทำให้เราได้กำไร แต่ปัจจุบันนั้นขาดทุนไปแล้ว และอย่างสุดท้ายได้แก่ Overtrade
“จิตวิทยาการลงทุน” คืออะไร?
จิตวิทยาการลงทุน คือสภาพจิตใจและสภาวะอารมณ์ในการเทรดหุ้นของเรา ซึ่งจิตวิทยาการลงทุนถือว่ามีความสำคัญมากในการลงทุน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดว่าเราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนหรือไม่ ซึ่งหากมองดูแล้วจิตวิทยาการลงทุนนี่มีความสำคัญพอ ๆ กับความรู้ในการลงทุนเลย แต่เพราะมันไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมอะไร คนส่วนใหญ่ก็เลยไม่ค่อยให้ความสำคัญกัน
5 “จิตวิทยาการลงทุน” ที่นักลงทุนมักทำพลาดในตลาดหุ้น
เรามาดูจิตวิทยาในการลงทุน ที่นักลงทุนมักทำพลาดในตลาดหุ้นมาให้ทุกคนได้ลองอ่านกัน แล้วลองดูสิว่ามีใครเป็นแบบไหนบ้างไหม ไปดูกันเลย
1. เพราะราคาสูงเลยไม่ลงทุน
ในส่วนของข้อแรก ความผิดพลาดที่เกิดบ่อยและนักลงทุนเป็นกันเยอะมากที่สุดข้อหนึ่งเลยก็ว่าได้ ความหมายของคำว่า “เพราะราคาสูงเลยไม่ลงทุน” ก็คือสมมติว่าเราดูกราฟ หุ้น ก แล้วเห็นว่าหุ้นตัวนี้น่าสนใจมาก ๆ และเป้าหมายของหุ้นตัวนี้น่าจะไปถึงราคา 15 บาท ซึ่งในตอนนี้ราคาหุ้นก็ยังอยู่แค่ 5 บาทอยู่เลย เราก็เลยเพิ่มหุ้นตัวนี้ไว้ในลิสต์เพื่อดู แต่พอตอนเราจะซื้อราคาหุ้น ราคาขึ้นมาอยู่ที่ 9 บาทแล้ว และราคานี้ก็เป็นแนวต้านเก่าพอดี
ถ้าในความรู้สึกของบางคนก็จะรู้ว่าราคาหุ้นมันขึ้นมาสูงมากแล้ว ก็จะไม่กล้าที่จะเข้าไปลงทุน ทั้ง ๆ ที่ตอนดูกราฟเรายังมั่นใจอยู่เลยว่ามันต้องไป 15 บาทแน่ ๆ แบบนี้ก็จะทำให้เราเสียโอกาสในการลงทุนไป
วิธีแก้ของวิธีนี้เลย เราอย่าไปดูที่เราคาหุ้นที่เราจะซื้อมาก แต่จะต้องให้โฟกัสที่จุดที่มันจะไปอย่างเดียว เพราะฉะนั้นถ้ามันยังมีช่อง หรือ Gap ให้เราทำกำไร ก็ยังถือว่าเรายังมีโอกาสทำกำไรได้อยู่
2. ไม่ยอมทำตามแผนที่วางไว้
บางครั้งปัญหาในการลงทุนของเรามันอาจจะไม่ใช่ความรู้ในการลงทุนของเราก็ได้ แต่ปัญหาของเรามันความมั่นคงทางจิตใจของเรา
ซึ่งจะขอแบ่งสาเหตุที่ทำให้ความมั่นคงทางจิตใจของเราเปลี่ยนไปเป็น 2 สาเหตุด้วยกัน คือ
- ความกลัว จะเป็นในเรื่องการกลัวขาดทุน กลัวราคาจะลงไปมากกว่านี้ กลัวไม่ได้หุ้น
ตัวอย่างเช่น เราวางแผนไว้ว่าถ้าราคาหุ้น ก ลงมาที่แนวรับ ที่เราวางแผนไว้ว่าจะซื้อ แต่พอหุ้น ก ลงมาที่แนวรับนั้นจริง ๆ เรากลับไม่กล้าซื้อ เพราะกลัวว่าราคาจะลงต่อ และกลัวว่าซื้อไปแล้วหุ้นจะไม่ขึ้น ก็เลยไม่ได้ซื้อหุ้น หลังจากนั้นพอวันต่อมาเรากลับมาดูหุ้นตัวนี้อีกทีราคามันก็ขึ้นไปไกลแล้ว แบบนี้มันทั้งน่าเสียดายและน่าเจ็บใจเลยจริง ๆ
- ความโลภ
ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรามีหุ้น ก อยู่ในพอร์ต โดยมีทุนอยู่ที่ราคา 5 บาท และเราวางแผนว่าจะไปขายที่แนวต้านที่ราคา 7 บาท แต่พอราคาหุ้นขึ้นมาที่ 7 บาทแล้วเรากลับไม่ขาย เพราะเรากลัวว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปอีก แบบนี้ถ้าราคาหุ้นไม่ขึ้นต่อ แถมยังปรับตัวลงมาด้วยเรานั่นแหละที่จะเสียดาย
วิธีแก้ปัญหานี้ก็จะแนะนำให้เราเขียนแผนที่ชัดเจนเอาไว้เลย แล้วทำตามแผนที่เราเขียนไว้ทุกขั้นตอน แต่ตรงนี้เราก็ต้องปรับตามหน้าเทรดด้วยนะ พี่ทุยเชื่อว่าถ้าเราทำแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาข้อนี้ได้ดีขึ้นแน่นอน
3. เชื่อคนอื่นมากเกินไป
เชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนหลาย ๆ คนที่อยู่ในตลาดหุ้นจะไม่ได้เข้ามาเทรดคนเดียว แต่จะมีกลุ่มเพื่อนของตัวเองเข้ามาเทรดด้วย ซึ่งถ้าจะมองว่าก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะมันจะทำให้เราสนุกกับการเทรดมากขึ้น มีคนให้เราปรึกษา และทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้นด้วยจากการแลกเปลี่ยนความรู้กันในกลุ่มอีกด้วย
แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องระวังในการเทรดกับเพื่อน คืออย่าเชื่อคนอื่นมากเกินไป ซึ่งตรงนี้หมายความว่าเวลาที่เราปรึกษากับเพื่อนในกลุ่มมันก็จะมีการแนะนำหุ้นกันมา ซึ่งจะไม่แนะนำให้เราเชื่อและลงทุนในหุ้นที่ได้มาจากคนอื่นทั้งหมด แต่ไม่ได้เพราะว่าพวกเขาไม่เก่งนะ แต่เป็นเพราะว่า การเชื่อหุ้นคนอื่นจะทำให้เราไม่ได้พัฒนาตัวเอง และจงจำไว้ว่าบางทีเขาไม่ได้บอกเราทุกอย่าง
ข้อนี้หมายความว่าบางทีเขาบอกให้เราซื้อหุ้น ก แถมบอกราคาซื้อด้วย แต่ประเด็นคือเขาไม่ได้บอกเราว่าเขาจะขายเมื่อไหร่ ซึ่งบางทีเขาขายทำกำไรไปนานแล้ว แต่เรายังถือหุ้นตัวนั้นอยู่เลยก็มี
อีกหนึ่งอย่างที่เป็นผลเสียจากการเชื่อคำพูดคนอื่นมากเกินไป ก็คือบางทีเราทำการบ้านหุ้นตัวนี้มาอย่างดีทั้งดูกราฟและอ่านงบการเงิน แต่ตอนที่เรากำลังจะซื้อดันมีเพื่อนมาบอกว่า “อย่าซื้อหุ้นตัวนี้เลย มันไม่ดีหรอก เราว่าหุ้นตัวนี้ลงแน่ ๆ” ซึ่งถ้าจิตใจเราไม่มั่นคงพอ เราก็อาจจะพลาดโอกาสในการลงทุนในหุ้นและทำกำไรจากหุ้นตัวนี้ไปเลย
วิธีแก้ไขข้อนี้ คือพอเราได้ยินหุ้นจากคนอื่นมาให้เราเอามาทำการบ้านเองก่อน เช่น เอามาดูกราฟเอง หรือดูปัจจัยพื้นฐานเอง แล้วตัดสินใจด้วยตัวเราเองแบบนี้มันจะทำให้เราได้พัฒนาและไม่ต้องฝากพอร์ตเราไว้กับคำพูดของใครด้วย
4. ฝังใจกับหุ้นตัวเดิม ๆ
การฝังใจกับหุ้นตัวเดิม ๆ นั้น เชื่อว่านักลงทุนแต่ละคนย่อมที่จะมีหุ้นที่ตัวเองไม่ถูกชะตา หรือเคยเจ็บกับมันมาก่อน จุดนี้เองมันเลยทำให้เราฝังใจ แล้วไม่กลับไปมองหุ้นตัวนี้อีกเลย แต่อยากให้ทุกคนลองค่อย ๆ ปรับดู อาจจะค่อย ๆ เฝ้าดูหุ้นตัวนั้นอย่างสม่ำเสมอ แล้วถ้ามีจังหวะดีเมื่อไหร่ก็ลองพยายามกลับไปลงทุนในหุ้นตัวนั้นด้วยเงินน้อย ๆ ก่อนก็ได้ ซึ่งถ้าเรากำไรสักครั้งหนึ่ง เราเชื่อว่ามันจะทำให้เราลบฝันร้ายนั้นไปได้ เหตุผลที่ให้ทุกคนทำแบบนี้ก็เพราะว่า ไม่อยากให้เรามีอคติกับหุ้นตัวไหนเลย เพราะมันจะทำให้เราพลาดโอกาสการลงทุนนั่นเอง
5. Overtrade ข้อสุดท้ายของ “จิตวิทยาการลงทุน”
Overtrade หรือการเทรดมากเกินไป ที่เกิดขึ้นจากความที่เรามั่นใจตัวเองมากเกินไป เช่นในช่วงนั้นเราอาจจะเทรดเข้าเป้าทุกตัว เข้าตัวไหนก็กำไรไปหมด ความมั่นใจนี้เองมันเลยทำให้เราไม่ยอมหยุดเทรด แล้วทำให้เรายิ่งเทรดไม้ใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ เกินความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ แล้วเมื่อผิดทางขึ้นมาทำให้เกิดความเสียหายกับพอร์ตอย่างมหาศาล ซึ่งอาจจะทำให้พอร์ตเราไม่โต และอาจจะไปถึงขั้นขาดทุนถึงเงินทุนเลยก็เป็นไปได้เช่นกัน
วิธีแก้ข้อเสียข้อนี้ให้ดีขึ้น ก็คือให้เรากำหนดแผนการลงทุนอย่างชัดเจนก่อนการลงทุนทุกครั้ง ห้ามซื้อขายถ้ายังไม่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจนเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม การศึกษาจิตวิทยาการลงทุนไม่สามารถทำนายสมรรถนะของตลาดหรือการลงทุนได้อย่างแม่นยำทุกครั้ง ซึ่งตลาดทางการเงินมีผู้เกี่ยวข้องหลากหลายและมีความซับซ้อน การตัดสินใจในการลงทุนควรพิจารณาองค์ความรู้จากการศึกษาจิตวิทยาการลงทุนและผสมผสานกับการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์และการตลาดเพื่อทำให้การลงทุนมีความเป็นไปตามเป้าหมาย